คนกล้าคืนถิ่น

ธวัชชัย ทัดเที่ยง

  • คนกล้าพิจิตร
  • เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/happyincountryside/
  • Facebook : ธวัชชัย ทัดเที่ยง , ฟาร์มบ้านนอกมีสุข

พนักงานบริษัท กับความกล้า “ลดทุนนิยม ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน”

หนุ่มพนักงานบริษัทก่อสร้าง หันหลังจากเมืองหลวงกลับมาทำนาข้าวเชิงเดียวกว่า 18 ปี ศึกษาข้อมูลผ่านไอที สมัครสมาชิก ” คนกล้า คืนถิ่น “ พลิกพื้นที่ 7 ไร่ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ แบบผสมผสาน ลดทุนนิยม ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ได้ ตลอดระยะเวลา 18 ปี หลังจากที่ได้หันหลังกับงานอาชีพพนักงานที่ดินของบริษัทงานก่อสร้างในเมืองใหญ่ ก่อนที่จะนำพื้นที่ กว่า 7 ไร่ ทำการเกษตรแบบนาข้าวเพียงอย่างเดียวปี ละ 2 ครั้ง และต้องเสี่ยงกับสภาวะการตลาด ของราคาข้าวที่ตกต่ำ ราคาสารเคมี ความเสี่ยงของดินฟ้าอากาศ รวมไปถึงแมลงศัตรูพืชข้าว มีบ้างในการทำนาแต่ละครั้ง ทั้งกำไรขาดทุน คละเคล้ากันไป เพื่อหารายได้บนที่ดินทำการเกษตรนาข้าว เลี้ยงครอบครัวเป็นเวลากว่า 18 ปี

พี่ธวัชชัย ทัดเที่ยง อายุ 40 ปี อยู่ที่ 125 / 8 ถนนบึงสีไฟ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่กลับมาบ้านเกิด ที่พิจิตร ได้นำพื้นที่นา กว่า 7 ไร่ ทำนาข้าว เนื่องจากในช่วงแรก พื้นที่รอบข้างทั้งหมด ทำนาข้าวเพียงอย่างเดียว จึงได้ทำนาข้าวตามพื้นที่รอบข้าง เพื่อให้เหมือนกับเกษตรกรรายอื่นที่ทำกัน ยอมรับว่ามีบ้างที่การลงทุนในการทำนาแต่ละครั้ง เป็นการลงทุนไม่ใช่น้อย ทั้ง สารเคมี แรงงาน รวมถึง การพึ่งพาคนอื่นมากกว่าการยืนด้วยตนเองเป็นหลัก
หลังจาก 18 ปีเต็ม จากการทำนาเป็นพืชเชิงเดียวเพียงอย่างเดียว จากนั้นได้ศึกษาข้อมูลจากการทำการเกษตร ในระบบอินเตอร์เน็ต ถูกบ้างผิดบ้าง จนเพื่อนแนะนำการทำการเกษตร ทฤษฎีใหม่ จากเพื่อนจนเปิดมาพบโครงการคนกล้าคืนถิ่น จึงได้ตัดสินใจไม่รอช้า สมัครเข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2558 ทันที พร้อมได้รับการเข้าฝึกอบรมในโครงการจนได้รับความกระจ่างของการทำการเกษตรในรูปแบบหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน

จากนั้นปี 2558 หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านข้อมูลรวมถึงการปฏิบัติ จากโครงการจึงนำที่ดินในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ต.เมืองเก่า อ.เมืองพิจิตร จำนวน 7 ไร่ แบ่งตามสัดส่วน ในพื้นที่ 1. ปลูกที่อยู่อาศัย 2. นา 3.น้ำ 4.ต้นไม้ยืนต้น โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ จะมุ่งเน้นไปทางนาข้าว เนื่องจากเป็นอาชีพที่เราถนัด มาก่อนหน้านี้ และจะมีรายได้หลัก จากการทำนาเพื่อนำไปสู่การพัฒนา   แต่มีการปรับเปลี่ยนการทำนาปลอดสารพิษ เป็นการปลูกแบบธรรมชาติ ไม่พึ่งพาสารเคมี บนคันดิน จากเดิม ที่ทำนาในช่วงก่อน มีขนาดเพียง ไม่ถึงเมตร ถูกปรับแต่ง ให้มี ขนาด กว้าง 3 เมตร ที่เต็มไปด้วย ไม้ยืนต้น มะฮอกกานี ต้นสัก เพื่อให้ไม้ในการก่อสร้าง สลับกับ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม พืชที่ใช้กิน และเหลือจำหน่าย รวมถึงประโยชน์ในการ ป้องกันลมพายุ และที่สำคัญเป็นเกาะป้องกัน สารเคมี จากพื้นที่รอบข้างที่จะเข้ามาในพื้นที่ ส่วนด้านในมีทั้ง พืช ผลไม้ ที่สามารถกินได้รายวัน ทั้ง มะละกอ มะเขือ ชะอม เพื่อลดค่าใช้จ่ายรายวันแก่ครอบครัว

“งานเยอะกว่าเก่า ทำเหนื่อยก็พัก เห็นแล้วสบายใจ ลดค่าใช้จ่ายได้มาก “ยังเป็นคำพูด พี่ธวัชชัยพูดถึงหลังจากที่ทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ว่างานจะมากขึ้นจากเดิม จากการทำนาเพียงอย่างเดียวเนื่องจากต้องต่อสู้กับวิกฤติของทุนนิยม ทั้ง แรงงาน สารเคมี แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป เราทำมากก็จริงแต่การทำมาก ผลลัพธ์ที่กลับมาเป็นความคุ้มค่า กับการทำการเกษตร แบบผสมผสาน ที่ให้ธรรมชาติคอยดูแลกันเอง ข้อดีของการปลูกพืชหลากหลาย มีทั้งพืช รายวัน รายเดือน และรายปี     รายวัน คือ พืชผัก ผลไม้ กล้วย ที่เก็บได้รายวัน ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว เหลือจำหน่ายจ่ายแจกกับเพื่อนบ้าน   รายเดือน คือ ข้าวปลอดสารเคมี จะใช้ระยะเวลาในการปลูก 4 เดือน สามารถเก็บไว้กินและเหลือจำหน่าย   ส่วนรายปี คือ ไม้ยืนต้น ที่ปลูกไว้รอระยะเวลาที่เหมาะสม ใช้ไม้เพื่อทำการก่อสร้าง

พี่ธวัชชัย เล่าให้ฟังต่อว่า “การเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ ในการเริ่มทำ 1 ปี 4 เดือน หลังเข้าโครงการ มีอะไรเปลี่ยนไปทางที่ดีมากกับชีวิตและครอบครัว ที่เห็นเด่นชัด คือ ความภาคภูมิใจที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ใหม่ ได้กลับเข้ามาในชีวิตการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่เห็นได้ชัด รวมถึงรายได้จากพืชผักผลไม้ถึงวันละ 100 บาท ในผลดีย่อมมีผลร้ายกลับมา คือ มุมมองของชาวบ้าน ในพื้นที่ใกล้เคียงรวมถึงญาติพี่น้องที่มองว่าการนำเอาพื้นที่ที่เคยทำนามาปรับเปลี่ยนมาทำแบบอย่างที่ทำ เป็นเรื่องที่แปลกใหม่ของชาวบ้านที่เห็นต่าง แต่เรามองว่าเรื่องแปลกใหม่ ยังเป็นเรื่องที่ยังใหม่กว่าเรื่องเก่า ที่เคยทำกันมาในยุคปัจจุบัน ที่ต้องพึ่งทุนนิยมตามยุคสมัยวัตถุนิยม แต่ยังดีที่มีเกษตรกร อีกหลายคนเริ่มให้ความสนใจเข้ามาพูดคุย พร้อมนำเอาความรู้ไปปรับเปลี่ยนพื้นที่

พี่ธวัชชัยทิ้งท้ายว่า “ผมว่า ผมมาถูกทางแล้ว” สำหรับการทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ ระยะเวลาที่เริ่มเพียง 1 ปี กับ 4 เดือน ถือว่าให้ผลความสำเร็จของเกษตรกรที่กล้าทิ้งงาน กลับคืนถิ่น และพลิกตัวเองจากการเกษตรแบบเดิมๆ มายึดหลัก การเกษตรพอเพียงตามแบบพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เป็นอย่างดี