คนกล้าคืนถิ่น

ธนกฤต คงเมือง

  • คนกล้ามหาสารคาม
  • เว็บไซต์ :
  • Facebook :

เพราะ “ครอบครัวสำคัญกว่า” จึงกล้าคืนถิ่น

นายธนกฤต คงเมือง หรือ “หมู” คนกล้าคืนถิ่น จากกลุ่ม “ตามรอยพ่อ คนกล้าคืนถิ่น รุ่นที่ 1” ต.ท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม ดูเหมือนชีวิตการงานและครอบครัวจะมีความสุข ทำงานในอุตสาหกรรม ที่ จ.ระยอง มากว่า 10 ปี รายได้ 28,000 – 40,000 บาท จากนั้นแต่งงานกับภรรยาชาว จ.มหาสารคาม แล้วก็ได้ย้ายไปอยู่ด้วยกัน แต่แล้วความสุขนั้นก็หายไปหลังผ่านไปเพียง 3 เดือน ทั้งคู่ต้องแยกกันอยู่นานถึง 2 ปี เพราะภาระที่ต้องดูแลครอบครัวของตนเองและภรรยา เนื่องจากภรรยาต้องกลับมาดูแลพ่อ และลุง ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เนื่องจากแม่กับน้องสาวเป็นเสาหลักของครอบครัวเสียชีวิต ส่วนตนเองก็จำเป็นต้องทำงานและดูแลครอบครัวที่ จ.ระยองเช่นกัน ถือเป็นช่วงที่ยากลำบากของสองครอบครัว


เมื่อคู่ชีวิตต้องแบกรับภาระดูแลแม่ตัวเอง ด้วยความห่วงใยและถือเป็นภาระที่ต้องช่วยกันแบ่งเบา หมูตัดสินใจใช้วันหยุดทั้งหมดที่มีของทุกเดือน กลับมาช่วยภรรยาที่จังหวัดมหาสารคาม แต่ก็ต้องแลกกับความบกพร่องในการดูแลแม่ของตัวเอง จนแม่ตั้งคำถามว่า “จะทิ้งแม่เหรอ” ซึ่งยังดีที่มีพี่น้องช่วยกันดูแลอยู่บ้างและแม่ตนเองก็ยังแข็งแรงอยู่ นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับสภาพร่างกายที่ย่ำแย่จากการทำงานเต็มเวลาและต้องเดินทางไกลเป็นประจำด้วย

เมื่อถึงคราวหนทางชีวิตและครอบครัวมีแต่ความมืดมน แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญก็เกิดขึ้นหลังจากอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากมาประมาณ 2 ปี แม่ที่จังหวัดระยองก็มีหลานตัวน้อยเป็นลูกของน้องสาวมาให้ช่วยเลี้ยงคลายเหงา ทุกอย่างระหว่างแม่กับหมูก็เริ่มผ่อนคลาย ประกอบกับลุงของภรรยาแบ่งที่ดินให้กว่า 5 ไร่ จึงตัดสินใจมาอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม เพื่อความสะดวกและจัดการปัญหาหลายอย่างได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มแรกคิดจะมาทำงานประจำ หรือเป็นลูกจ้าง แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการเป็นนายตัวเองบนผืนดินที่มีอยู่ “แล้วจะเริ่มต้นทำกินสร้างรายได้อย่างไรละ เพราะความรู้และประสบการณ์ด้านการเกษตรนั้นน้อยนัก” มีความรู้เพียงจากการลองผิดลองถูกมากว่า 6 เดือน ในแปลงเกษตรเล็กๆหลังบ้าน มีรายได้ขายพืชผักตอนนั้นวันละแค่ไม่เกิน 60 บาท ส่วนที่ดินกว่า 5 ไร่ ตอนนั้นก็ทำได้เพียงปรับพื้นที่รื้อสวนต้นยูคาออกไป แต่ยังไม่มีทิศทางแน่นอนว่าจะทำอย่างไรต่อไป ต่อมาพบโครงการ “คนกล้าคืนถิ่น” ในช่วงปี 2558 ทำให้พบหนทางใหม่ๆสังคมใหม่ๆ เรียนรู้ลัดจากปราชญ์เชี่ยวชาญ เกิดความกล้า “คืนถิ่น” อย่างเต็มตัว ก็เริ่มทำเป็นไร่นาผสม ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกทั้งพืชไร่ พืชสวน ข้าว มีผลผลิตไว้กินใช้ ลดรายจ่าย บางส่วนเหลือขายบ้างแต่ไม่มาก

ปัจจุบัน หมู ไม่ค่อยมีเวลาดูแลแปลงเกษตรมากนัก เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่เข้าร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ เสียสละเวลาตัวเองสร้างเครือข่าย เชื่อมโยงเครือข่ายให้เกษตรกรทุกกลุ่มมีช่องทาง ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด หลายกลุ่มเกษตรกรประสบความสำเร็จจากผลงานที่หมูเสียสละเข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันต่อยอด หลายครั้งรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แต่ก็เป็นบทบาทหนึ่งของ “คนกล้าคืนถิ่น” ที่ไม่ใช่พอแค่เพื่อตัวเอง แต่ต้องช่วยสร้างคนอื่นให้เพียงพอด้วย”

“รายได้ไม่มาก ออกจากงานประจำในเมืองใหญ่ แล้วสิ่งที่ทำอยู่มันตอบโจทย์อะไร” คำตอบคือ มันทำให้ชีวิตครอบครัวมีความหวัง แม่ที่ จ.ระยอง ก็อยู่มีความสุข มีเวลาแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนดูแลกันได้อย่างอิสระ และการทำงานที่เน้นเกี่ยวข้องกับเครือข่ายในตอนนี้ มั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว เพราะเมื่อไหร่ที่หันกลับมาจับการผลิตของตนเองอย่างเต็มที่ ทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำก็จะเป็นเรื่องง่ายๆ เครือข่ายที่ทำไว้จะกลับมาช่วยทำให้ตนเองประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วได้อย่างแน่นอน อย่างเช่นตอนนี้ก็เริ่มมีผลิตผลที่ทำขึ้นเองจากความรู้ที่ออกสะสมจากเครือข่ายและผู้รู้ต่างๆ เช่น การทำถ่านไบโอชาร์ ผสมมูลไส้เดือนพร้อมใช้ “ปรับปรุงดิน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร”

สำหรับคนที่สงสับสนว่า “คนกล้าคืนถิ่น” จะช่วยอะไรได้ คำตอบที่บอกได้แน่นอนเลยคือว่า ประโยชน์อันดับแรกคือมีเพื่อนช่วยเหลือแบ่งปัน ให้กำลังใจกัน เป็นสะพานเชื่อมโยงไปสู่ตลาดที่เปิดกว้างจากคนที่เข้ามาสู่โครงการ เนื่องจากคนที่มาร่วมโครงการมีมากมายหลากหลาย พื้นฐานทางอาชีพต่างกัน มาจากหลายระดับทางสังคม บางสิ่งบางอย่างที่เคยค้นหามานานแล้วไม่พบเจอ เมื่อเข้าไปสู่โครงการนี้ก็อาจจะได้อย่างที่ต้องการ ยืนยันว่าจะไม่เสียเปล่าแน่นอน ขอเพียงแค่มีความกล้า มุ่งมั่นทำจริง