คนกล้าคืนถิ่น

ภัทรานิษฐ์ รุ่งรุจอมรพัฒน์

  • คนกล้ากรุงเทพมหานคร
  • เว็บไซต์ :
  • Facebook :

คุณภัทรานิษฐ์ จากพนักงานออฟฟิศ สู่วิถีชีวิต “ครอบครัวคนกล้า”

สมาชิกที่ได้เข้าร่วม “โครงการคนกล้าคืนถิ่น” นั้นมาจากหลาย ๆ จังหวัดทั่วประเทศ และเมื่อได้อบรมแล้วทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ได้เพื่อน ได้เครือข่ายที่ช่วยเหลือและกัน” นี่เป็นแค่ความสำเร็จส่วนหนึ่ง ยังมีอีกหลายส่วนที่อยากจะเล่าให้ฟัง วันนี้เราขอแนะนำให้รู้จัก “ครอบครัวคนกล้า” อีกหนึ่งท่าน ที่จะมายืนยันถึงสิ่งนี้ได้ดี

คุณภัทรานิษฐ์ รุ่งรุจอมรพัฒน์ ร่ำเรียนจบมาทางด้านบัญชี ทำงานออฟฟิศมานาน ได้เล่าให้ฟังก่อนที่จะมาร่วมเป็นสมาชิกโครงกาฯ ว่า “ดิฉันมีตำแหน่งเป็นผู้วางแผนการผลิตให้กับบริษัทแห่งหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเลนส์แว่นตาส่งออก”

เริ่มต้นที่มาที่ไปก่อนจะเข้าร่วมโครงการฯ นี้ คุณภัทรานิษฐ์ เล่าให้ฟังว่า “ก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปซื้อที่ดินที่ จ.ร้อยเอ็ด ทั้งที่ตัวเองเป็นคนกรุงเทพฯ เพราะอยากจะซื้อที่ดินไว้เป็นสมบัติของตนเอง คุณอาก็เลยแนะนำให้ไปซื้อที่ดินแปลงนี้ 10 กว่าไร่ หลังจากซื้อที่ดินผืนนี้แล้วก็ยังไม่ได้ดำเนินการทำอะไร ปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่าอยู่อย่างนั้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังทำงานประจำอยู่เหมือนเดิม”

เผยจุดเปลี่ยน นำไปสู่ชีวิตเปลี่ยน

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ดิฉันตัดสินใจย้ายไป จ.ร้อยเอ็ด เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ เราเกิดความลำบากกันมาก ดิฉันก็เลยคิดว่า ถ้าเรามีบ้านสำรองไว้สักแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด ก็จะดีมากเลย ถึงแม้ว่าเราสามารถย้ายไปอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องที่ต่างจังหวัดได้ก็จริง แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการจริง ๆ ของเราได้ทั้งหมด ครั้นจะอยู่ที่เดิมในกรุงเทพฯ ก็อยู่ไม่ได้ เพราะน้ำท่วมใหญ่ สถานการณ์ขณะนั้นถึงแม้จะมีเงิน แต่ก็ไปซื้ออะไรไม่ได้ น้ำท่วมออกไปไหนไม่ได้ แม้จะมีข้าวกล่อง ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ใช่ว่าชีวิตแบบนี้จะอยู่ได้ตลอดไป

“ต่อมาวันหนึ่ง ได้ฟังรายการข่าวประชาสัมพันธ์ในวิทยุของคลื่นทหารบกคลื่นหนึ่ง ประกาศเรื่องโครงการคนกล้าคืนถิ่น พอเราโทร.ไปสอบถามข้อมูล เขาบอกให้สมัครได้ที่เว็บไซต์ของโครงการฯ จึงเป็นที่มาของจุดเปลี่ยนที่เราได้เข้าร่วมโครงการฯ นี้”


ไม่มีความรู้ด้านเกษตร แล้วจะทำอย่างไร

คุณภัทรานิษฐ์ไม่เคยมีพื้นฐานด้านการเกษตรมาก่อน แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการฯ เธอจึงเริ่มต้นนับหนึ่งด้านการเกษตรตั้งแต่บัดนั้น “ทางโครงการฯ ได้ให้ดิฉันอบรมด้านการเกษตรที่บ้านสำราญ ต.หนองแคน เรียนรู้ที่นั่น 5 วัน เป็นรุ่นที่ 2 มีจำนวน 27 คน มาจากหลายจังหวัดรวมกัน เราเห็นคนที่เขาทำจริง อยู่ได้จริง ก็เลยคิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ยากเกินไปที่เราจะเริ่มต้นทำแบบนี้บ้าง ส่วนการอบรมที่นั่นจะมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ แบ่งกลุ่มไปทำกิจกรรม เช่น กลุ่มทำเพาะเชื้อเห็ด กลุ่มทำการปลูกพืชหมุนเวียน เป็นต้น กลุ่มดิฉันมีสมาชิก 3 คน เป็นญาติกันที่ชวน ๆ กันมาเข้าร่วมโครงการฯ นี้”

 

สมาชิกในโครงการฯ แต่ละท่านนั้นจะมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน อย่างคุณภัทรานิษฐ์ไม่มีความรู้ทางการเกษตร ไม่มีที่นาหรือสวนเกษตรอะไรเลย มีเพียงที่ดินว่างเปล่าที่ซื้อไว้เท่านั้น แต่สมาชิกบางท่านทำด้านเกษตรอยู่ก่อนแล้วมาต่อยอด

นอกจากนี้ คุณภัทรานิษฐ์ยังได้อบรมหลักสูตรวนเกษตรและพลังงานทดแทนของ ดร.เกริก มีมุ่งกิจ ที่ จ.สระแก้ว อีกด้วย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับโครงการฯ นี้ ผู้ที่เข้าอบรมจะมีสถานที่พักและอาหารที่ทางโครงการฯ จัดไว้ให้ ใช้เวลาอบรม 3 วัน รุ่นนี้มีจำนวน 30 กว่าคน

“หลังจากจบการอบรมทั้ง 2 แห่งแล้ว เราก็ลงพื้นที่จริงกันเลย” คุณภัทรานิษฐ์ เล่าต่อ “ดิฉันไปลงพื้นที่ที่เป็นที่ดินที่ได้ซื้อไว้แล้วอยู่ จ.ร้อยเอ็ด ตามที่เล่าให้ฟังตั้งแต่ต้น เริ่มแรกที่เราลงไปทำแหล่งน้ำ ปรับปรุงที่ดิน และอีกมากมาย” คุณภัทรานิษฐ์ กล่าว

ปัญหาหนัก อุปสรรคมาก สู้ด้วยใจ..จึงจะชนะ

“ตอนที่ตัดสินใจจะมาทำด้านการเกษตรที่ จ.ร้อยเอ็ด ทางครอบครัวที่กรุงเทพฯ ไม่มีใครเห็นด้วยเลย สามีว่าบ้าหรือเปล่า เขาแย้งว่าจะย้ายไปอยู่ จ.ร้อยเอ็ด ทำไม อยู่กรุงเทพฯ นี่ก็ดีแล้ว มีหน้าที่การงานทำ มีเงินเดือนดี จะย้ายไปทำไมให้เกิดความลำบาก ดิฉันก็เลยพาทุกคนไปดูที่ศูนย์อบรมของผู้ใหญ่วีระยุทธ พาทั้งแม่ น้าสาว สามี ลูก ไปดูของจริงที่ ต.หนองแคน หลังจากนั้นทุกคนก็เข้าใจดิฉันมากขึ้น”

นอกจากนี้ ปัญหาอุปสรรคที่คุณภัทรานิษฐ์ยังพบอีกก็คือ “ดิฉันเอาไม้ยืนต้นไปปลูกในที่ดิน จ.ร้อยเอ็ด ของเรา ค่อย ๆ ทำละขั้นตอน แต่ตอนที่อบรมนั้นเขาให้ทุกคนเขียนแผนงานที่อยากจะทำในพื้นที่ดินของแต่ละคนด้วย เมื่อเขียนแผนเสร็จก็ให้เราเก็บแผนงานนั้นไว้ ดิฉันก็เริ่มทำตามแผนงานที่เขียนไว้ โดยเริ่มลงไม้ยืนต้นรอบ ๆ ที่ดินไว้ก่อนเลย ลงไม้พยุง ไม้สักทอง ไม้ยางนา นี่คือทำในปีแรกก่อน จากนั้นก็เริ่มทำนา ท้องนาอยู่ใจกลางโดยมีไม้ยืนต้นที่ปลูกไว้นั้นล้อมรอบอีกทีหนึ่ง”

“ต่อมาก็ทำคันนากว้าง ๆ เพื่อให้รถเข้าออกได้สะดวก จากนั้นก็ขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ เอาไว้ให้ใส่น้ำปริมาณมากที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ทั้งปีก็ไม่หมด พอมาถึงขั้นตอนนี้เราพบปัญหาอุปสรรคก็คือ ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงปล่อยวัวเข้ามากินไม้ยืนต้นของเราพังเสียหายหมดเลย”

ดังนั้นวิธีแก้ปัญหานี้ที่คุณภัทรานิษฐ์ต้องทำก็คือ “ปีนี้เราก็เลยแก้ปัญหาด้วยการทำรั้วกั้นล้อมรอบไม้ยืนต้นนั้นอีกทีหนึ่ง จากนั้นเราก็ปลูกอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งก็ได้ผลเลย เช่น มันสำปะหลัง ตะไคร้ และทำนา นี่ก็เข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว ซึ่งสมาชิกในกลุ่มที่ได้เข้าไปอบรมกับทางโครงการฯ นั้น บางคนก็อยู่ จ.ร้อยเอ็ด เหมือนที่เราอยู่ ฉะนั้นเมื่อเจอปัญหาอุปสรรคพวกเราก็มาช่วยเหลือกันแก้ปัญหาต่าง ๆ มีการปรึกษาหารือกันในกลุ่มสมาชิกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตัวดิฉันอยู่ประจำที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีเวลาไปเฝ้าท้องที่นาของตัวเองที่ จ.ร้อยเอ็ด แต่ก็อุ่นใจ เพราะมีสมาชิกในกลุ่มที่ผ่านการอบรมมาด้วยกัน ไปช่วยเฝ้าดูให้อยู่แล้ว” คุณภัทรานิษฐ์ กล่าว

ประโยชน์ดี ๆ ที่โครงการฯ มีให้

“โครงการฯ ช่วยให้เราได้รู้จักคนที่ทำเกษตรเหมือนเรามากขึ้น อย่างเช่นคนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน น้องโก้ ธนากรณ์ เขาจะเป็นตัวหลักของกลุ่ม มีความรู้ด้านเกษตรดีมาก ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี เขาทำมาแล้ว 5 ปี”

แผนอนาคตที่อยากต่อยอด

“ที่ดินตรงนี้ในอนาคตอยากทำสวนเกษตรผสมผสาน ทำพลังงานทดแทน ทำโซล่าเซลล์ การเผาถ่าน ทำปุ๋ยใช้เอง ส่งเสริมการปลูกป่าในพื้นที่นั้น ๆ โดยเราจะเพาะต้นกล้าแล้วส่งไปให้ตามโรงเรียนต่าง ๆ”

ความภูมิใจใน..ผลิตภัณฑ์ข้าวกล้อง

ผลจากการออกแรงออกเหงื่อ จนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาอย่างหนึ่ง ซึ่งคุณภัทรานิษฐ์ เล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า “ผลิตภัณฑ์ของเราก็คือ ข้าวหอมมะลิกล้อง ปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี แต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อแบรนด์ข้าวอย่างเป็นทางการ ทำแพคเก็จเรียบร้อย ไม่ได้เปิดหน้าร้าน แต่นำไปออกงานต่าง ๆ เป็นต้น”


บอกต่อของดี

“อยากแนะนำโครงการฯ นี้ให้ทุกคนมาสมัคร ข้อดีอย่างแรกก็คือ จะได้เพื่อน ๆ ได้รู้จักเครือข่าย ยกตัวอย่างเช่นเรามีผลิตภัณฑ์ออกมาชิ้นหนึ่ง เราก็สามารถติดต่อผ่านเครือข่ายที่เรารู้จักนี้แหละ เพื่อนำผลิตภัณฑ์นี้ไปขายได้ เขาก็จะช่วย ๆ กัน การสมัครก็ไม่ได้ยุ่งยาก โดยสมัครผ่านเว็บไซต์ ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร ทางโครงการฯ ออกค่าใช้จ่ายให้เอง เพียงแต่เราต้องออกค่าเดินทางไปเอง นอกนั้นก็ฟรี”

การเข้าร่วมโครงการฯ จะทำให้เปิดมุมมองที่ไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งคงไม่ใช่มีเพียงเรื่องการเกษตร แต่ยังได้เพื่อน ได้มิตรภาพ ได้เครือข่าย และอื่น ๆ อีกมากมาย ลองสัมผัสดูด้วยตัวคุณเอง แล้วจะค้นพบความสุขที่แท้จริง