คนกล้าคืนถิ่น

  • คนกล้านครศรีธรรมราช
  • เว็บไซต์ : http://www.monmai.net
  • Facebook : คนทำสวน หม่อนไม้

พรเทพ คงเสถียร

ความเชื่อของตนเองที่ว่า อาชีพเกษตร คือผู้เอื้ออาทรต่อโลก  โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักแห่งธรรม ธรรมชาติ เราสามารถสร้างอาหารเลี้ยงผู้คนบนโลก สร้างแหล่งพักอาศัย ทั้งอากาศ น้ำ ป่า ยารักษาโลกจากสมุนไพร รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานจากภาคเกษตรกรรมในรูปแบบต่างๆ ความเข้าใจที่เกิดขึ้นในตนเองและหาเส้นทางที่ชัดเจนจากการค้นคว้าทดลอง จนมั่นใจ จึงได้เริ่มลงมือทำ เดินทางสู่ภาคปฏิบัติ

วางแผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
รูปแบบชีวิตที่สามารถกำหนดได้ด้วยตนเอง ต้องประกอบด้วยความตั้งใจอันอยู่บนพื้นฐานแนวทางที่ถูกต้อง ในหลักการของการพึ่งตนเองจึงจำเป็นต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ ตามขั้นตอนที่สร้างขึ้นดังนี้

ช่วงที่ 1 พออยู่ พอกิน พอใช้ (พอร่มเย็น)
พออยู่ เริ่มต้นด้วยการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม จึงหาพื้นที่ที่เหมาะแก่การสร้างบ้าน ซึ่งกำหนดให้เป็น บ้านดิน ออกแบบบ้านตามการใช้สอยเป็นหลัก ในเอกลักษณ์ความเป็นบ้านแบบไทยประยุกต์ สอดคล้องกับภูมิอากาศ ภูมิประเทศ
พอกิน อาหารพื้นฐานที่ต้องมี ข้าว ปลา อาหาร เริ่มต้นด้วยการปลูกต้นไม้ในรูปแบบหลุมพอเพียง ในพื้นที่ที่โล่งเตียน สร้างบ่อน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำ และปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ เป็นขั้นตอน
พอใช้ สร้างปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ เสื้อผ้า ยา ของใช้ เครื่องมือเครื่องใช้ สิ่งใดทำเองได้ก็พึ่งตนเอง
พอร่มเย็น ประโยชน์ของการปลูกต้นไม้ให้เป็นแหล่งผลิตอากาศที่บริสุทธิ์ ร่มรื่น และร่มเย็น อันเป็นผลพลอยได้จากการสร้างป่า

ช่วงที่ 2 อยู่ดี กินดี
เมื่อสร้างสุขภาวะพื้นฐานในการดำรงชีวิต พอเพียงแก่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และเริ่มแบ่งปันแก่คนรอบข้าง ให้ความรู้แก่ผู้สนใจ สร้างต้นแบบความพอเพียงอย่างเป็นระบบ และเป็นแบบอย่างความสำเร็จของการพึ่งตนเอง มุ่งสู่จุดหมายของการพึ่งกันเอง ให้หลุดพ้นจากการครอบงำทางความคิดที่ยึดติด ผูกขาดจากกลุ่มทุน ผู้แสวงหาผลประโยชน์จากความไม่รู้ของผู้คน กลับมาภาคภูมิใจในตนเอง พึ่งพาความสามารถตนเอง

ช่วงที่ 3 มั่งคั่ง ยังยืน ร่ำรวยความสุข รวยบุญทาน เกื้อหนุนชุมชนและสังคมแบบพึ่งพาอาศัยกัน
สร้างสรรค์และเผยแพร่องค์ความรู้ ขับเคลื่อนภูมิปัญญาของแผ่นดิน แก้ปัญหาทุกข์จากการขาดปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต ร่วมสร้างสังคมแห่งความดีให้แผ่ขยาย ลดการเบียดเบียนกันและกัน สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ พร้อมต่อสู้กับภัยพิบัติ อย่างเข้าใจและมีสติ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ทำแผนงาน แผนเงินและแผนชีวิต
- แผนงาน : งานที่ต้องเหมาะสมกับเรา หากได้ทำในสิ่งที่ตนเองรักถือว่าดีที่สุด ดังนั้นงานเป็นสิ่งที่ต้องเป็นกิจวัตรประจำวันด้วย งานที่ผมทำปัจจุบันเป็นงานที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (IT) และการทำเกษตรก็เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์เช่นกัน เรียนรู้ ทดลอง ค้นคว้า ซึ่งเป็นรูปแบบและแนวทางเดียวกัน ต่างกันแต่เครื่องมือและพื้นที่ปฏิบัติการเท่านั้น
แผนงานถูกกำหนดโดยการจำแนกกิจกรรม และขั้นตอนในการทำสวน ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ รูปแบบสวนที่ใช้ออกแบบในแนวทาง เกษตรผสมผสาน สวนสมรม วนเกษตร ตามพื้นที่ให้เหมาะสม และลงมือปฏิบัติ
- แผนเงิน : รายได้ = เงินออม - รายจ่าย ผมและครอบครัวใช้หลักการนี้มาตลอด ทำอย่างไรให้พออยู่ พอกิน สู่มั่งมี ศรีสุข และมั่งคั่ง ยั่งยืน
การมีรายได้ทางเดียวจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มีอัตราความเสี่ยงสูง ซึ่งหลายครั้งมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ซึ่งอาจทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำ ทางออกที่ปราชญ์ของแผ่นดินกล่าวไว้ คือการสร้างรายได้จากหลายทาง การทำเกษตรผสมผสาน และมีความหลากหลาย น่าจะเป็นทางออกในการหารายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายรอบ และรายปี หล่อเลี้ยงชีวิตและหาซื้อปัจจัยอื่นๆที่ไม่สามารถทำเองได้
- แผนชีวิต : จริงแล้วต้องเข้าใจชีวิตว่าต้องการอะไร ชื่อเสียง เงินทอง หรือความสุข บางงานทำงานสบายแต่ชีวิตเป็นทุกข์ บางงานลำบากต้องใช้ความเพียร แต่ชีวิตมีความสุข สำหรับผมเลือกที่จะมีความสุขและสุขจากภายในด้วย ดังนั้นจึงกำหนดและเลือกสิ่งที่ทำ ไม่ทำงานหนักจนไม่ได้ดูแลครอบครัว โดยไม่ละเลยที่จะหาเงินทองมาใช้จ่ายเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัว มันเหนื่อยจริงๆ นะ !!

ททท. (ทำทันที)
เมื่อวางแผนชัดเจนแล้ว ก็ลงมือทำครับ รออะไร...
เงินที่เก็บหอมรอมริบมาแปรเปลี่ยนเป็นที่ดิน ใน อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช (บ้านเกิดคุณภรรยา) และเมื่อพ่อตาแม่ยายเห็นว่าตัดสินใจแน่แล้วจึงยกมรดกที่จะให้คุณภรรยามาด้วย รวมเป็นที่ดินทั้งหมด 7 แปลง ด้วยที่ดินที่มีสภาพพื้นที่แตกต่างกัน จึงต้องปรับใช้ตามแนวทางที่เหมาะสมกับการทำเกษตร มีพื้นที่ดังต่อไปนี้
1. สวนผลไม้ มีมังคุด ทุเรียน มีต้นไม้อื่นแซมบ้าง ปรับเปลี่ยนให้เป็นสวนสมรม
2. สวนยางพารา 1.5 ไร่ อายุต้นยางพารา ประมาณ 4 ปี ปรับปรุงให้เป็นสวนไผ่ร่วมยาง
3. สวนยางพารา 4 ไร่ อายุต้นยางพารา ประมาณ 3 ปี และมีไม้ผลขึ้นบ้าง ปรับเปลี่ยนให้เป็นสวนยางสมรม
4. บ่อปลา 4 ไร่ มีไม้ผล เช่น เงาะ และไม้อื่นๆ ปนอยู่บ้าง ปรับเปลี่ยนให้เป็นสวนเกษตรผสมผสาน
5. สวนยางพาราหมดอายุ 10 ไร่ สร้างเป็นป่ายางวนเกษตร
6. สวนยางพาราหมดอายุ 4 ไร่ สร้างเป็นสวนสมรม แนวทางวนเกษตร ในชื่อสวนพืชสหาย
7. ที่ดิน 1 ไร่ติดถนนใหญ่ ตั้งใจจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้ในการทำการเกษตรเพื่อการพึ่งตนเอง

สวนสมรม : สวนผลไม้ เพิ่มเติมเป็นสวนสมรม พัฒนาสู่วนเกษตร

สวนสมรม เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในอดีตของภาคใต้ ที่ปลูกไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก พืชสมุนไพรในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ทำลายพืชดั้งเดิมที่มีอยู่ ทำให้พืชได้พึ่งพาอาศัยกันเองตามธรรมชาติ
จากสวนผลไม้ดั้งเดิมที่พ่อปลูกไว้ให้ มีมังคุด ทุเรียน ลางสุก ลางสาด มะมุด หมาก กล้วย รวมทั้งไม้ดังเดิมในพื้นที่ และเนื่องจากพื้นที่ด้านหนึ่งเป็นลำธารสาธารณะ จึงยังมีไม้พื้นถิ่นอยู่บ้าง เช่น ต้นสาคู ผักกูด และไม้ริมน้ำ
เริ่มต้นพัฒนาสู่สวนสมรม ด้วยการปลูกแซมด้วย
ไม้ยืนต้น ตะเคียน ยางนา จำปาทอง ไผ่ สะเดา สะเดาเทียม ฯลฯ
เสริมด้วยไม้ผล ได้แก่ กล้วย ชมพู่ ขนุน กระท้อน มะพร้าว ผักเหลียง หม่อนกินผล สับประรด ตะลิงปลิง มะยม ชะอม มะนาว ฝรั่ง มะเฟือง ดาหลา ข่า ตะไคร้ ฯลฯ
เพิ่มเติมด้วยสมุนไพร ทั้งสมุนไพรในท้องถิ่นและสมุนไพรที่ปลูกเพิ่มเข้าไป
และพืชที่เกิดตามธรรมชาติ ได้แก่ สาคู ผักกูด ฯลฯ
พยายามจัดระบบระดับชั้นต้นไม้ ไม้ยืนต้นที่มีทรงพุ่มใหญ่ หรือสูงใหญ่ก็จะปลูกห่างกัน และเสริมด้วยไม้ระดับกลาง พืชใบหนา สลับกับพืชใบเล็ก แบ่งปัน?การรับแสง? และตัดแต่งทรงพุ่มไม้ผลให้รับแสงทั่วถึง
การฟื้นฟูสวนสมรมสู่วนเกษตร สืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ด้วยการพึ่งพิงและพึ่งพาอาศัย ด้วยความเข้าใจ เคารพ และอ่อนน้อม ยอมรับในหลักของธรรมชาติ สู่ความมั่นคงและยั่งยืน

สวนไผ่ร่วมยาง


เริ่มต้นศึกษาการปลูกไผ่ในสวนยาง กรณีที่ยางมีอายุ 4 ปีขึ้นไป ต้นยางมีพุ่มใบปกคลุมพื้นที่ ปิดบังแสงใต้ต้นแล้ว ทดลองด้วยการปลูกไผ่หลายชนิด
ทดลองด้วย ไผ่อินโดจีน ไผ่กิมซุง (ไผ่ตงลืมแล้ง) ไผ่ปักกิ่ง ซึ่งเป็นเป็นไผ่ที่ลำต้นสูงพอจะแข่งกับต้นยางได้? ในระยะมีแสงส่องถึงพื้นน้อยลง และยังทดลองนำไผ่ขนาดเล็กมาปลูกด้วยเช่น ไผ่บงหวาน ไผ่ลวก ไผ่หวะโซว่ เป็นต้น
– เริ่มต้นทยอยตัดต้นกล้วยออก เพราะมีแสงน้อยไม่ค่อยโต ทดลองปลูกไผ่ ปี 2556 ด้วยไผ่ตงลืมแล้งอินโดจีน ไผ่กิมซุง ปี? 2557 ลงไผ่ปักกิ่ง ในร่องยาง 7?3 เมตร ไผ่เหล่านี้เป็นไผ่ที่มีขนาดกลาง ลำต้นสูงใกล้เคียงกับต้นยางพารา และนำไผ่ขนาดเล็กมาปลูกด้วยเช่น ไผ่บงหวาน ไผ่หว่ะโซว เป็นต้น
– ระยะการเจริญเติบโตในช่วงแรกค่อนข้างช้า เพราะได้รับแสงน้อย ในช่วงปีแรก จำเป็นต้องไว้ลำทั้งหมด บางต้นไม่สามารถแทงลำใหม่แข่งกับต้นยางได้ ทำให้ยอดหัก ลำต้นบิดงอ
– เมื่อมีการสะสมอาหารมากพอจะเกิดลำใหม่ที่ใหญ่ขึ้น ต้นไผ่อยู่ในระยะปีที่ 2 จึงจะเริ่มเป็นกอ และขยายลำออก ลำต้นพุ่งสูงขึ้นแข่งในระดับเดียวกับต้นยางและสามารถเก็บหน่อไม้?บ้าง? และนำไม้บางส่วนไปใช้งานได้? ส่วนใหญ่จะไว้ลำก่อนเพราะจำนวนลำยังไม่มาก เลยปล่อยไว้ไม่ได้สางกอ
– เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 จะสามารถนำผลผลิตไปใช้ได้อย่างเต็มที่ทั้งหน่อไม้ และลำ รวมทั้งกิ่งเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป และเนื่องจากเป็นไผ่ที่สามารถออกหน่อตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับการจัดการ จะให้ผลผลิตพอกินทั้งปี

ไผ่ร่วมยางเป็นทางออกหนึ่งในการสร้างอาหาร และไม้ใช้สอยโตเร็วในสวนยาง ในรูปแบบวนเกษตร เพราะนอกจากไผ่ ควรจะมีไม้ใช้สอยอื่นๆ ผสมผสานในสวนป่ายางด้วย

สวนยางสมรม : จากสวนยางเชิงเดี่ยวพัฒนาเพิ่มเติมสู่สวนยางสมรม


สวนยางสมรม เป็นรูปแบบการปรับระบบสวนสมรมมาผสมผสานกับสวนยางพารา ด้วยการปลูกไม้หลากหลายชนิดปะปนในสวนยาง เน้นไม้ผลเป็นหลัก โดยแบ่งออกเป็น
ไม้ยืนต้น เป็นไม้ชั้นบนระดับสูง ได้แก่ ทุเรียนบ้าน ยางนา สะตอ เหรียง ตะเคียน ยาง เป็นต้น ต้นไม้บางต้นเป็นไม้เดิมที่ไม่ได้ทำการโค่นทิ้งเมื่อเริ่มปลูกยางใหม่
ไม้ยืนต้นและไม้ผล เป็นไม้ชั้นบนระดับกลาง ได้แก่ ยางพารา มังคุด ลางสาด ลางสุก ทุเรียนสวน ไผ่เลี้ยงหวาน ไผ่บงหวาน ไผ่ซางนวล ไผ่หว่ะโซว มะไฟ มะดัน หมาก มะพร้าว ขนุน กล้วย เป็นต้น
ไม้ผล พืชผัก สมุนไพร เป็นไม้ชั้นบนระดับล่าง ใช้แสงน้อย ได้แก่ ดาหลา ข่า สละอินโด เหลียง ชะอม อ้อดิบ เตยหอม เป็นต้น
และไม้เลื้อย ได้แก่ พริกไทย โดยใช้ต้นทุเรียน สะตอ เหรียง เป็นเสาให้พริกไทยเกาะเกี่ยว เลื้อยไปบนต้น

สวนเกษตรผสมผสาน


จุดเริ่มต้นของความมั่นคง พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น ต้องการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสานให้เหมาะแก่พื้นที่ สำหรับสวนหม่อนไม้ได้ประยุกต์นำเอาหลักการนี้มาใช้ ด้วยการทำบ่อปลา เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักพื้นบ้าน ไม้ผล เพื่อไว้ใช้เป็นอาหารสำหรับคนในครอบครัว และแจกจ่ายแก่ญาติพี่น้อง ญาติสนิทมิตรสหาย โดยการนำหลักการพึ่งพาอาศัยของพืช และสัตว์ ประกอบด้วย
1. การทำกสิกรรม ทำการปลูกพืชในระดับต่างๆ แบบพึ่งพาอาศัยกัน
พืชบนน้ำ ได้แก่ ผักบุ้ง บัวสาย ผักกระเฉด ฯลฯ
พืชหัว ได้แก่ ข่า ตะไคร้ ขมิ้น? เผือก? มันเทศ? มันสำปะหลัง? ฯลฯ
พืชเลี่ยดิน ได้แก่ สมุนไพร ผักพื้นบ้าน เช่น บัวบก ผักชีลาว ฟ้าทลายโจร ฯลฯ
พืชชั้นล่าง ได้แก่ ผักเหลียง ผักหวานป่า หม่อนกินผล มะเขือ พริก สับประรด ฝรั่ง มะนาว มะกรูด มะม่วงไม่รู้หาวฯ ชะอม มะละกอ? ฯลฯ
พืชไม้เลื้อย ให้เกาะบนต้นไม้ เช่น? ?พริก?ไทย? ตำลึง? ฟักทอง? ฟักแฟง? บวบ? ?อัญชัน?หรือเกาะบนค้างที่ทำไว้ เช่น? แก้วมังกร
พืชชั้นกลาง ได้แก่ ไผ่ หมาก เงาะ กล้วย ชมพู่ มะกอกน้ำ ขนุน ส้มโอ มะม่วง สละอินโด ฯลฯ
ไม้ยืนต้น ไม้ผล ได้แก่ ทุเรียน กระท้อน ยางนา ตะเคียน มะพร้าว กระถินเทพา ฯลฯ
2. ประมง ขุดบ่อกักเก็บน้ำ และเลี้ยงปลา ได้แก่ ปลานิล ปลาดุก และกุ้งฝอย
3. ปศุสัตว์ ด้วยการเลี้ยงไก่ ได้แก่ ไก่พื้นเมือง ไก่แจ้ เลี้ยงปล่อยแบบไก่อารมณ์ดี
สวนเกษตรผสมผสานแห่งนี้ตั้งใจจะเป็นแหล่งเสบียงของครอบครัว และวันนี้พอเพียงจะเลี้ยงชีวิตให้อยู่อย่างมั่นคง เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่ง(อาหาร บุญทาน มิตรสหาย) และยั่งยืน สรุปว่ามีกินทั้งปี รวมทั้งสร้างรายได้จากการเลี้ยงปลา และยังมีแผนงานสำหรับสวนตรงนี้อีกหลายอย่าง

ป่ายางวนเกษตร


การทำสวนยางพาราเพื่อพึ่งพาตนเอง และเพื่อการพื้นฟูธรรมชาติ และการปลูกยางพาราแบบยั่งยืน จึงจำเป็นต้องฟื้นฟูธรรมชาติภายในระบบนิเวศน์สวนยางนั้นๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลและเหมาะสม โดยมีหลักในการพิจารณาทั่วไป จะต้องเลือกปลูกพืชที่มีความสูงของเรือนยอดต่างๆ อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน โดยแบ่งความสูงออกเป็นระดับ คือ
ประเภทต้นสูง เช่น ประดู่ ตะเคียน ยางนา พะยอม ไม้สัก สะตอ เนียง ทุเรียน ไผ่ซางหม่น ไผ่ซางนวลราชินี ไผ่กิมซุง ฯลฯ
ประเภทโตปานกลาง หรือไม้พุ่ม เช่น ผักหวาน ชะมวง เหลียง ไผ่รวก ไผ่บงหวาน กล้วย ฯลฯ
ประเภทพืชชั้นล่างที่ทนร่ม เช่น ขิง ข่า ดาหลา อ้อดิบ กระชาย ขมิ้น ชะพูล ผักกูด และเห็ด ฯลฯ

สวนหม่อนไม้ ส่วนการทำสวนยางพารารูปแบบป่ายางวนเกษตร วางแผนการปลูกเป็นระยะและช่วงเวลาการเจริญเติบโตของไม้ มีรายละเอียดังนี้
0. เริ่มต้น(ตุลาคม 2555) ด้วยการโค่นยางพาราที่หมดอายุ และเว้นไม้ใหญ่ในสวนไว้ทั้งหมด ได้แก่ ตะเคียน ยาง สะเดาเทียม เป็นต้น และปรับพื้นที่เท่าที่จำเป็น ทำร่องน้ำ วางเส้นทางคลองไส้ไก่ ทำการเตรียมดิน ทำน้ำหมักชีวภาพ ทำจุลินทรีย์ และทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เตรียมไว้ก่อน พร้อมกล้ายางพารา
1. ปลูกยางพารา ทำแถวเป็น 7.5?3 เมตร พร้อมปลูกกล้วยระหว่างแถวยางห่างกันประมาณ 10 เมตร ที่สวนใช้กล้วยน้ำว้า เพราะหาง่าย ปลูกเป็นไม้พี่เลี้ยงและช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นแก่ดิน ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ คลุมโคนต้นด้วยหญ้า แล้วปล่อยให้หญ้าขึ้นเพื่อห่มดินไว้
2. ช่วง 6 เดือนต่อมา ยางพาราและกล้วยเริ่มตั้งตัวได้ พร้อมเหล่าสหายก็คือหญ้า หญ้า และหญ้า จัดการด้วยการตัดหญ้า หมกไว้โคนยาง ทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ฉีดน้ำหมักชีวภาพ และทำการปลูกไม้ยืนต้น ได้แก่ ประดู่ ตะเคียน ยางนา พะยอม ไม้สัก ปลูกไว้ข้างกอกล้วยในแนวเดียวกันให้กล้วยช่วยเป็นพี่เลี้ยง ไม้ยืนต้นเหล่านี้เป็นไม้โตช้าจะไม่สามารถแย่งแสงจากยางได้ในระยะต้น แต่เป็นไม้ที่สูงกว่ายางในระยะยาว ไว้เป็นมรดกหรือไม้บำนาญชีวิต ปลูก และผักสวนครัว มะเขือ พริก ถั่วฝักยาว ถั่วพลู เผือก ข้าวโพด ตะไคร้ กะเพรา โหระพา แมงลัก กระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบแดง ฯลฯ ปลูกแฝกขอบแนวร่องน้ำกันดินทลาย
3. เมื่อไม้ยางพาราครบ 1 ปี เริ่มทำเป็นป่าด้วยการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผลเพิ่มเติม ด้วยการปลูกไผ่ซางหม่น ไผ่ซางนวล ไผ่กิมซุง ไผ่บงใหญ่ ไผ่รวก ไผ่บงหวาน ไผ่หว่ะโซว ระหว่างแถงยางพารา ในแนวเดียวกับกล้วย ปลูกสลับกับกล้วย ไผ่ส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นไผ่เพาะเมล็ด จะโตตามต้นยางขึ้นไป ทำการปลูกชั้นล่าง ขิง ข่า ดาหลา อ้อดิบ กระชาย ขมิ้น และผักสวนครัว มะเขือ พริก ถั่วฝักยาว หญ้าเนเปียร์ ฯลฯ ไว้เก็บกิน
4. เมื่อผ่านไปปีครึ่ง ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผลเพิ่มเติม สะตอ เนียง ยางบง สะเดาเทียม กระถินเทพา ในแนวรอบสวนโดยห่างกันประมาณ 2 เมตรเพื่อเป็นไม้กำหนดเขตแดน และป้องกันสารเคมีต่างๆ ที่จะเข้ามาในสฟวน
5. ครบเวลา 2 ปีดูแลจัดการสวน รอให้ต้นไม้เติมโตตามธรรมชาติ ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ คืนชีวิตให้แผ่นดิน เรียกพนักงานพรวนดิน(ไส้ดือน) ให้กลับมา ตัดหญ้าตามกำลัง ในฤดูแล้งปล่อยหญ้าบางส่วนไว้คลุมดิน และฟตัดทำปุ๋ยตามความเหมาะสม ปลูกต้นไม้เสริมตามกำลังเพิ่มความหลากหลาย ได้แก่ ผักหวาน ชะมวง อ้อดิบ สับประรด ฝาง กระถิน หญ้าเนเปียร์ อ้อย ฯลฯ ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ
6. เข้าสู่ปีที่ 3 ต้นไม้เริ่มสูงใหญ่พอมีร่มเงา สามารถปลูกพืชที่ไม่ต้องการแสงมาก เริ่มปลูกเหลียง ในร่องยางพารา บางส่วนปลูกสละอินโดในระหว่างร่องยางพาราที่เว้นไว้ตามแผนผังที่ออกแบบสวน ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพปีละ 2-3 ครั้ง
7. ปีต่อๆ มา ต้นไม้ที่หลายหลายจะค่อยๆ เติบโต โดยผ่านการดูแลซึ่งกันและกัน บางชนิดอาจจะตายไปตามอายุ เช่นกล้วย จะได้แสงไม่พอก็จะไม่โตและตายไปในที่สุด ต้นไม้ที่หลากหลายก็จะพึ่งพากันเอง เป็นการพื้นฟูธรรมชาติ ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพปีละ 2 ครั้ง
การทำสวนยางพาราเพื่อพึ่งพาตนเอง ในแบบป่ายางวนเกษตร จึงเป็นความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืนของชาวสวน

สวนพืชสหาย


สวนพืชสหาย เป็นสวนที่สร้างขึ้นมาใหม่ จากสวนยางพาราหมดอายุ ปรับเปลี่ยนเป็นสวนผลไม้ มีการจัดวางแผนผังเพื่อรองรับการทำผลไม้อินทรีย์ ตามรูปแบบสวนสมรม มีรายละเอียดดังนี้
– รอบสวน จัดระบบการบังลม และป้องกันสารเคมีด้วยการปลูกไม้ยืนต้น เช่น สะเดาเทียม ตะเคียน ยางป่า จำปาทอง เหรียง และไผ่ เช่น ไผ่เลี้ยงหวาน ไผ่บงหวาน ไผ่ลวก ไผ่กิมซุง ไผ่ซางนวล เป็นต้น
– ผลไม้ แบ่งออกเป็นระยะให้ผล และร่มเงาบังแสง โดยการจัดระบบปลูกดังนี้
>> ผลไม้หลัก ได้แก่ ทุเรียน ปลูกในระยะ 10?8 เมตร และเพิ่มเติมไม้ผลอื่นในช่องว่างระหว่างแถว เช่น มะพร้าว ขนุน กระท้อน ส้มโอ ชมพู่ มะดัน มะม่วง มะกอก มะขามป้อม เป็นต้น
>> ผลไม้รอง ปลูกผลไม้ที่ให้ผลระยะสั้น เก็บกินได้ทั้งปี ผลไม้ขนาดเล็ก ได้แก่ หม่อนกินผล ฝรั่ง เป็นต้น
>> หลุมพอเพียง ในช่องว่างระหว่างแถว ใช้กล้วยเป็นพี่เลี้ยง ปลูกพืชผัก เช่น มะนาว กระเจี๊ยบแดง ถั่วดาวอินคา ชะอม เป็นต้น
>> พืชผักสวนครัว ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ ขมิ้น เผือก พริก มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือพวง ผักบุ้ง ผักเสี้ยน เป็นต้น

การกลับคืนสู่ผืนดินในครั้งนี้ จะทำด้วยสติ ใช้ปัญญา ให้พอประมาณกับตน มีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกัน อยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม

คนกล้ารู้

กล้าคิด กล้าทำ กล้าเรียน กล้ารู้ ตามแบบคนกล้าคืนถิ่น

มือห่อผลไม้อย่างง่าย

เมื่อถึงฤดูกาล​ผลไม้​ เหล่าผลไม้​ใน​สวนก็เริ่มผลิช่อ​ ออกดอก​และติดผล เมื่อผลไม้มีขนาดพอสมควรก็ถึงเวลาป้องกันแมลงเจาะผล​

รถฉีดปุ๋ยน้ำ

รถฉีดปุ๋ยน้ำ ฉีดได้ระยะไกลและสูงขึ้น พาไปในสวนได้สะดวก อาจจะยุ่งยากเรื่องสายยางที่ยาว แต่ก็ไม่ต้องลากถังไปทุกที่

ตู้ถัง 200 ลิตร

ตู้ถัง 200 ลิตร เก็บอุปกรณ์ทางการเกษตร ทั้งเครื่องมือตัด ผ่า เลื่อย ขุด ถาก ถาง เจาะ ตัก ถม ขนย้าย …

คลังอาหารปลา

เมื่อเราตั้งใจจะเลี้ยงปลาด้วยการสร้างระบบ​นิเวศน์​ โดยการทำนิเวศน์​บ่อปลาเลียนแบบธรรมชาติ​ ที่เป็นห้วยหนองคลองบึง​ บ่อปลาจึงเป็นธรรมชาติมากที่สุด

ปุ๋ยหมักไม่กลับกอง​ ไม่รดน้ำ

การปล่อยให้หญ้าขึ้นในสวน​ เป็นวิธีการห่มดินรูปแบบหนึ่ง​ที่ช่วยปกป้องแม่ธรณี​ แต่ในสวนที่มีหญ้ารกเกินไป​ก็จะบดบังแสงที่พืชหลักต้องการ​ ได้เวลา..ตัดหญ้า