คุณโจ-ชาญชัย ใจเที่ยง เจ้าของ ‘คำาม่อนฟาร์ม’ ธุรกิจฟาร์มหนอนโปรตีนเลี้ยงสัตว์ จ.เชียงใหม่ ที่เมื่อก่อนเคยทำาธุรกิจค้าสตรอว์เบอร์รี่ทำกำไรหลักล้าน แต่แลกกับการที่บรรดาเพื่อนร่วมงานบางคนต่างก็มือเท้าเปื่อย เล็บหลุด แพ้สารเคมีและจากเขาไปในที่สุด วินาทีที่เอ่ยถึงเรื่องนั้นคุณโจบอกว่า “เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมา เราคือฆาตกรคนหนึ่ง เราส่งต่อผลไม้ที่อาบเคมีให้คนทั้งประเทศกิน นั่งคิดทบทวนตัวเองมาตลอด แล้วตัดสินใจว่าพอแล้ว เราจะทำาสตรอว์เบอร์รีเป็นปีสุดท้ายแล้วเราจะเลิก” ไม่ต้องการส่งต่อสิ่งนี้ให้ผู้บริโภคและเกษตรกรได้รับพิษภัยอีกต่อไป จึงได้เปลี่ยนเส้นทางมาทำการเกษตร แบบไร้สารเคมี และช่วงที่เขาทำปุ๋ยมูลไส้เดือนสำหรับปลูกต้นมะเดื่อฝรั่งไว้ผลิตขายสู่ท้องตลาด ก็ได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กนอกจากไส้เดือนในบ่อเลี้ยง นั่นคือหนอน ‘แมลงวันลาย (Black Soldier Fly)’ ที่เหล่าเกษตรกรมักจะเห็นมันในถังปุ๋ยหมักและเททิ้งอย่างไม่ไยดี
ทว่า หลังจากคอยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการกินอันแสนตะกละ และวงจรชีวิตของเจ้าแมลงนี้ เขาจึงสนใจหาความรู้กับมันเพิ่มเติมด้วยการสมัครเรียนหลักสูตรการเลี้ยงหนอน จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ไม่ใช่เพียงแค่ได้ลงมือศึกษา และวิจัยการเลี้ยงเจ้าสิ่งมีชีวิตจอมตะกละนี้อย่างลงลึก แต่ได้ต่อยอดความสำเร็จเปลี่ยนเจ้าหนอนอ้วนให้กลายเป็นโปรตีนออแกนิกแห่งอนาคตได้ด้วยแนวทางที่เขายึดถือเสมอมา นั่นคือ ‘การต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ แต่ไม่ทิ้งสิ่งเดิม'
แต่กว่าจะพบหนทางสร้างนวัตกรรมสุดสร้างสรรค์ เขาก็ผ่านบทเรียนราคาแพงมานับไม่ถ้วน
“มีครั้งหนึ่งที่หนอนตายยกฟาร์มด้วย (หัวเราะ) ปกติผมจะใช้กากถั่วเหลืองจากร้านน้ำเต้าหู้มาเลี้ยงหนอน แต่ช่วงนั้นเราหากากเต้าหู้ไม่ทัน ผมก็เลยเอาเศษผักสดจากตลาดแถวบ้านมาใช้แทน ซึ่งในตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าผักบางชนิดมีสารเคมีสูงมากโดยเฉพาะใบนอกของกะหล่ำที่เขาลอกทิ้ง ผมก็เอามาปั่นแล้วเทให้หนอนกิน ปรากฎว่าวันรุ่งขึ้นหนอนตายไม่เหลือแม้แต่ตัวเดียว แต่พอเอาหนอนไปตรวจในห้องแล็บอีกที ปรากฎว่าเราไม่เจอสารเคมีตกค้าง โลหะหนักเราก็ไม่เจอ ลำไส้หนอนเขากำจัดทิ้งได้หมด จึงเป็นการการันตีว่าหนอนของเราออแกนิกจริงๆ”
คุณโจเล่าประสบการณ์การลองผิดลองถูกจากความหวังที่จะกำจัดอาหารเหลือทิ้งโดยนำมาเป็นอาหารให้เจ้าหนอนครั้งนั้น ทำให้การเลี้ยงหนอนแมลงวันกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นขับเคลื่อนชุมชนให้ทำเกษตรปลอดสาร เพื่อที่สุดท้ายแล้วเศษผัก ผลไม้ของทุกบ้านจะกลายเป็นอาหารปลอดเคมีให้เจ้าหนอนแมลงวัน

ทว่า มหากาพย์หนอนตายยกฟาร์มยังมีภาคต่อ เมื่อฤดูฝนที่อากาศไม่เป็นใจ เจ้าหนอนเริ่มเติบโตกลายเป็นแมลง แต่เมื่อไร้แดดจ้าทำให้แมลงไม่จับคู่วางไข่ และชีวิตแมลงวันลายแสนสั้นก็จบลงด้วยอายุขัยเพียง 5-6 วัน เขาจึงหาทางแก้ปัญหาโดยสร้างนวัตกรรม ‘แสงเทียม LED’ ที่เขาทดลองวิจัยสร้างหลอดไฟเลียนแบบแสงธรรมชาติ จนตอนนี้กลายเป็นอีกหนึ่ง เครื่องมือสำคัญเพื่อให้เขาสามารถสร้างผลผลิตหนอนสำหรับป่นเป็นอาหารสัตว์ได้ตลอดปี และประสบการณ์ทั้งหมดนี้ คุณโจก็คอยส่งต่อให้ผู้สนใจทั้งในชุมชนและนอกชุมชนอย่างไม่หวงวิชาไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการเลี้ยงและนวัตกรรมใหม่เพื่อให้ฟาร์มแมลงเป็นอีกหนึ่งอาชีพทำารายได้ของทุกคน พร้อมค่อยๆเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรและการบริโภคในชุมชนแวดล้อมที่เป็นมิตรมากขึ้น ควบคู่ไปกับการวิจัยต่อยอดโปรตีนหนอนสำาหรับอุตสาหกรรมความงามและเป็นอาหารมนุษย์
สำาหรับเขา ปลายทางของการสร้างฟาร์มแมลงนี้ คือ การลดโอกาสที่มนุษย์จะทำลายระบบนิเวศ แม้ในปัจจุบันมีการใช้ปลาป่นเป็นโปรตีนสัตว์ แต่ก็แลกมากับการต้องลากอวนล่าปลาน้อยในท้องทะเลโดยไม่ทันให้มันได้เติบโต และนวัตกรรมจากเจ้าหนอนอ้วนชนิดนี้ก็เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ว่าการสร้างสรรค์สามารถกำจัดขยะในระบบนิเวศได้จริง ยิ่งไปกว่านั้นแล้วการสร้างนวัตกรรมทำให้เขาสามารถลดต้นทุน แต่เกิดกำไรมากขึ้น และยังทำาให้มลภาวะลดลง เป็นมิตรต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
บทความจาก: บทเรียนพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาธุรกิจเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่ - ทำเนียบคนกล้าคืนถิ่น โดยมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช