คนกล้าคืนถิ่น

ชัชชัย เถาะรอด

  • คนกล้าสระบุรี
  • เว็บไซต์ :
  • Facebook : ชัชชัย เถาะรอด

ทำงานประจำ พร้อมกับทำเกษตรไปด้วย

ชัชชัย เถาะรอด (ชัช) พนักงานรับจ้างเอกชน ชื่นชอบงานเกษตรเป็นทุนเดิม

และมีพ่อแม่เป็นชาวนา ทำให้มีความรู้ทางด้านการเกษตรไม่น้อย
ในช่วงเริ่มต้น …เจอเลย … ปัญหาน้ำแล้ง … เพาะปลูกไม่ได้ตามเป้าหมาย ปัญหาโรคจากแมลง ที่กัดกินต้นไม้

แต่ด้วยโครงการคนกล้าฯ ทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้อยู่ลำพัง มีเพื่อน พี่ น้อง หาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ตอนนี้ทำงานประจำควบคู่กับการทำเกษตร เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ทั้งสองอย่างมันสามารถไปด้วยกันได้ ซึ่งการเกษตรเป็นการเตรียมการเพื่อให้ชีวิตสามารถพึ่งตัวเองได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ผมจะทำตอนเย็น กับช่วงเช้าแค่นั้น มันมีความสุขมาก เหมือนเราอยู่นอกกรอบ มีอิสระทางความคิด และรู้จักกับวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ตัวเองเจอมาอีกด้วย

แค่เปลี่ยนจากปาร์ตี้สังสรรค์ในตอนเย็นและวันหยุด มาทำเกษตร … แค่นี้ก็สุขเกินพอ … คุณชัชกล่าว

ชัชชัย เถาะรอด (ชัช)
คนกล้าคืนถิ่น อ. เสาไห้ จ. สระบุรี


“ ‘คนกล้าล่าฝัน’ โหนด 9 สระบุรี ลูกชาวนามันก็คือลูกชาวนาจะหนีไปอยู่ตรงใหนก็เป็นลูกชาวนา ช่วงชีวิตที่เติบโตมาในยุคนิกส์(ประเทศอุตสาหกรรมใหม่) ด้วยระบบการศึกษาที่จัดให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจยุคนั้นที่ออกแบบมาเพื่อป้อนแรงงานให้กับโรงงานอุตสาหกรรม พ่อแม่ก็จะพร่ำบอกเสมอว่าจะได้ทำงานบริษัทเป็นเจ้าคนนายคน มีเงินมีรถมีบ้านไม่อยากให้ลูกหลานลำบากกับอาชีพทำนาจึงส่งเรียนสายอาชีวะจนจบปวส. สาขาซ่อมบำรุงโรงงานจึงได้ทำงานบริษัทสมใจพ่อแม่ปรารถนา”

“ปี 2558 หลังจากทำงานมาเกือบ 20 ปี จึงเริ่มมีความอยากกลับไปทำการเกษตรโดยเริ่มทำเล็กๆน้อยๆจนมาเจอข้อความเชิญสมัครร่วมการอบรมโครงการคนกล้าคืนถิ่นใน Facebook จึงสมัครมาร่วมโครงการได้เป็นคนกล้าคืนถิ่นรุ่น 1/2 อบรมที่ราชบุรี นอนในค่ายทหารศึกษาอบรมที่บ้านครูวิเชียรชีนะและได้ไปอบรมเติมเต็มที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจ พอเพียงของครูสุพจน์ โคมณีและวนเกษตรเขาฉกรรจ์ของดร.เกริก มีมุ่งกิจ และยังได้ไปร่วมอบรมกับเครือข่ายอื่นๆเพิ่มเติมในขณะที่เดินสายอบรมก็ได้ทำงานบริษัทและทำเกษตรควบคู่ไปด้วย ซึ่งได้นำความรู้จากการอบรมและจากเพื่อนๆเครือข่ายต่างๆมาทำซึ่งมีทั้งล้มเหลวบ้างสำเร็จบ้าง

จากกระบวนการอบรมและประสบการณ์จากการได้สัมผัสกับเพื่อนๆคนกล้าฯทำให้ได้ภาพของเกษตรกรที่เหมาะกับตนเองซึ่งน่าจะเรียกว่า ‘เกษตรวิถี’ เพราะยังต้องทำงานประจำอยู่อาศัยช่วงเย็นและวันหยุดจึงจะมาทำเกษตร โชคดีที่ทำงานอยู่ใกล้บ้านแปลงที่ทำจะเป็นไร่นาสวนผสมเพราะอยู่ในเขตชลประทานทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องน้ำจะแบ่งพื้นที่เป็นนา 40% สวนผลไม้ 30% สระน้ำ 10% และพื้นที่เตรียมไว้สร้างที่อยู่อาศัย 20% ปลูกผลไม้ที่เหมาะกับพื้นที่เช่น มะม่วง กล้วย ฝรั่ง (เคยลอง ปลูกผลไม้ต่างถิ่นเช่น ทุเรียน ลองกอง ตายเรียบ) พืชผักก็จะปลูกชนิดที่ปลูกครั้งเดียวแล้วกินยาวๆ เช่นไผ่ ผักหวาน ลูกฉิ่ง ผักติ้ว เป็นต้นผักสวนครัวก็จะปลูกตามฤดูกาล เน้นปลูกกินเองและขายในท้องถิ่นเป็นหลัก ถ้าเหลือก็แปรรูปไว้กินไว้ใช้ซึ่งรายได้จากการทำเกษตรเฉลี่ยวันละประมาณ 200-300 บาท

สิ่งที่อยากบอกเพื่อนที่อยากมาทำเกษตรคือให้ถามตัวเองก่อนว่าจะมาทำด้วยจุดประสงค์อะไรเพราะถ้าเป้าหมายไม่ชัดเจนจะทำให้เราทำแบบไม่มีจุดหมายซึ่งจะเปลืองทุนเปลืองแรงและเสียเวลา ควรศึกษาหาความรู้ให้ดี ลงมือทำจริงๆและต้องรู้จักสังเกต ลงทุนให้น้อยที่สุดลงแรงให้มาก แยกให้ออกว่าอะไรคือความจำเป็น (Need) กับความอยาก (Want) เอาคอนเซ็ปต์ของคนกล้าคืนถิ่นมาใช้ ‘เริ่มจากสิ่งที่มี’และสิ่งที่สำคัญมากๆคือ ‘เครือข่าย’ เพราะจะทำให้เราทำงานไม่โดดเดี่ยว มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้นและมีความสุขจากการทำเกษตร....”

บทความจาก: เรื่องราวที่ดีจากคนกล้าคืนถิ่น…ถึงคนรุ่นใหม่ หนังสือบทเรียนพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาธุรกิจเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่

มาเยี่ยมมาเยือน

สมุดเยี่ยม มาเยี่ยมเยือน ตามแบบคนกล้าคืนถิ่น